คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเทคโนโลยี VR มาใช้กับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเป็นคณะแรกของประเทศไทย

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเทคโนโลยี VR มาใช้กับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเป็นคณะแรกของประเทศไทย

 


นอกจากการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้การจัดการศึกษาแบบทุกที่ทุกเวลามีความเป็นไปได้ทั้งด้านอุปกรณ์และความคุ้มค่าของการลงทุนแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดตัวเร่งอันสำคัญซึ่งทำให้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะสะดุดหรือหยุดหมุนแต่การเรียนรู้ของมนุษย์จะไม่หยุดนิ่ง เป็นที่มาของความพยายามของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาบูรณาการเข้ากันเพื่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิผลที่สุดโดยไม่ถูกขัดจังหวะจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้งหลาย


เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา รองศาสตราจจารย์ ดร. สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ เปิดเผยว่า คณะของเราถือว่าเป็นคณะแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยี VR มาใช้ในการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เพื่อทำให้ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้หรือ Learning Outcome เกิดขึ้นในตัวนักศึกษาของคณะอย่างเต็มศักยภาพของผู้เรียนมากที่สุด โดยการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ นักศึกษาจะต้องได้รับการพัฒนาให้เติบโตขึ้นภายใต้ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่บริบูรณ์พร้อม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเรามีความเชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ที่ดีที่สุดนั้นจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีปัจจัยระบบนิเวศ 3 ด้าน

เรียกย่อๆ ว่า เอสอีที หรือเซ็ต (SET) คือตัวของนักศึกษา (Student) จะต้องถูกปลูกฝังให้มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน ซึ่งความใฝ่รู้ใฝ่เรียนนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวของนักศึกษามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยมีสภาพแวดล้อม (E: Environment) ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เอื้อต่อการเติบโตงอกงามทางวิชาการและความก้าวหน้าในชีวิต ตลอดจน ด้านคณาจารย์ (T: Teacher) ก็จะต้องทำให้บทเรียนนั้นมีความน่าสนใจ ทำให้นักศึกษานั้นเกิดความอยากเรียนรู้ด้วยเช่นกัน การใช้ VR ร่วมกับอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มระบบนิเวศของการเรียนรู้ ณ คณะฯ ในการมาเยี่ยมชมในวันนี้ ท่านจะได้เห็นตัวอย่างจากคณาจารย์และนักศึกษา ร่วมอยู่ในชั้นเรียนจริงๆ ว่าเมื่อ VR ถูกนำมาผสมผสานเข้ากับการเรียนการสอนจะทำให้บทเรียนน่าเรียนรู้มากขึ้นอย่างไร เช่น นักศึกษาสามารถแสดงผลงาน แลกเปลี่ยนไอเดียที่ได้เห็นจาก VR ผ่านสมาร์ทบอร์ดประเภทต่างๆ อีกทั้ง โลกเสมือนทำให้ย่นเวลาการเรียนรู้ที่เดิมอาจต้องใช้หลายสัปดาห์มาเหลือเพียงไม่กี่นาทีอย่างไร


ข้อดีของเทคโนโลยี VR คือไม่เพียงแต่ไม่ต้องออกไปในสถานที่จริงทุกครั้งที่ต้องการเรียนรู้ แต่ หลายครั้งโลกของจริงก็ไม่เอื้อให้ผู้เรียนเข้าไปเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นเพราะระยะทาง โรคระบาด หรือรอบการดำเนินธุรกิจที่ไม่มีของจริงให้ดูตลอดเวลา หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สถานศึกษาควบคุมไม่ได้ เช่น วิชาการสอบบัญชี หรือ Audit ต้องมีการเรียนรู้วิธีการตรวจนับสต๊อกสินค้า ซึ่งถ้าเป็นโลกสมัยก่อนต้องพานักศึกษาไปฝึกนับสต๊อกที่สถานประกอบการ บางแห่งอาจจะไม่มีสต็อกให้นับหรือว่าไม่ได้อยู่ในรอบที่สถานประกอบการสะดวกที่จะต้อนรับ นักศึกษาจึงไม่สามารถที่จะเข้าไปฝึกตามเวลาที่เขาต้องการได้ แต่โลกใน VR ทำให้การเรียนรู้ของนักศึกษาไม่หยุดชะงัก

เห็นได้ชัดเลยว่า VR นี้ทำให้ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ครบถ้วนพร้อมใช้สำหรับนักศึกษาอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทรงพลังมากขึ้นเมื่อบูรณาการกับเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์อื่นๆ ดังที่กล่าวถึงใน SET แล้วว่านอกจากสื่อและอุปกรณ์ที่พร้อมแล้ว ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของผู้สอนเองก็สำคัญ คณะของเราก็มีการอบรมพัฒนาอาจารย์อย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเทคนิคการเรียนการสอน การออกแบบบทเรียน ตลอดจนการวัดผลการเรียนรู้ที่ไม่พึ่งพาแต่การสอบ นอกจากนี้ ยังมีการจ้างนักศึกษาปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีความคล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้สมัยใหม่มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทางเทคนิค (Technical Support) ทำงานอยู่หลังฉากประกบอาจารย์แบบ 1 ต่อ 1 เพื่ออำนวยให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้แบบไร้รอยตะเข็บอีกด้วยจะถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของ ที (T) ก็ว่าได้


ทั้งนี้คาดว่าจะนำ เทคโนโลยี VR มาใช้ในการเรียนการสอน นำร่องในระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ เทอม 2 ของปีการศึกษา 2563 (ปลายเดือน พ.ย. นี้) โดย เริ่มต้นที่ 26 บทเรียนโดยแทรกอยู่ในวิชาต่างๆของหลักสูตรระดับปริญญาตรี ใน 4 ภาควิชาคือ ภาควิชาการจัดการ ภาควิชาการบัญชี ภาควิชาการเงินและการธนาคาร และภาควิชาการตลาด


นักเรียนที่กำลังมองหาสถานศึกษาที่เน้นการให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด เชิญชวนให้มาสมัครเรียนคณะบริหารธุรกิจ มช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรปริญญาตรี ทุกสาขา เพื่อจะได้เข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี มาพลิกโฉมปฏิวัติการเรียนรู้ให้บทเรียนมีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ทำให้การเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักศึกษาราบรื่นไร้รอยต่อ จนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ในตัวผู้เรียนดีที่สุด


อาจารย์ ดร.เอื้อบุญ เอกะสิงห์ จากภาควิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาควิชาการบัญชี ได้นำเทคโนโลยี VR มาใช้ในหลายๆ วิชา ทั้งการบัญชีต้นทุน การบัญชีบริหาร และการสอบบัญชี เพราะว่า VR นั้นสามารถทำให้ เราก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาควิชาการบัญชี ซึ่งรองรับนักศึกษาจำนวนมาก การที่จะพานักศึกษาทั้งหมดออกไปดูสถานที่จริงอาจจะมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะในช่วงโควิด19 ที่มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ส่งผลให้ไม่สามารถพานักศึกษาไปดูงานได้ ก็สามารถใช้ VR มาช่วยเพื่อให้นักศึกษาได้เข้าไปเสมือนอยู่ในสถานที่จริงๆ ได้มองดูสิ่งต่างๆ ที่เขาสนใจ ด้วยมุมมองที่เป็น 360 องศา รวมทั้งการที่เราสามารถแทรกข้อมูลต่างๆ ที่อยากจะให้นักศึกษาได้เห็นใน VR ทำให้มองเห็นวิธีการปฏิบัติงานจริงได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องจินตนาการเอาเองอีกต่อไป


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมลยา โกไศยกานนท์ กล่าวว่า ทางภาควิชาบัญชีของเราได้รับโจทย์มาให้ทำในส่วนของ VR เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน โดยทางกลุ่มได้เลือกเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีบริหาร ได้แก่ บัญชีต้นทุน ทางกลุ่มจึงมาช่วยกันคิดว่าควรทำอย่างไรเพื่อที่จะให้นักศึกษาสามารถใช้สื่อการเรียนการสอนของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สุดท้ายเราได้บทสรุปเป็นการทำสื่อการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านเกมส์ โดยให้นักศึกษาเข้าไปศึกษาในโรงงานเสมือนจริงและหลังจากที่นักศึกษาได้ศึกษาแล้ว นักศึกษาจะสามารถเข้าไปเล่นเกมส์ต่อที่ห้องเล่นเกมส์ ซึ่งจะจำลองขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาลองเล่นเกมส์เพื่อจำแนกต้นทุนต่างๆ ตามที่ได้ไปศึกษาจากโรงงานเสมือนจริง ซึ่งทางกลุ่มคิดว่าการใช้สื่อการสอนในลักษณะนี้น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงดูดให้นักศึกษาสนใจและเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นเทคนิคการสอนใหม่ และเราเป็นแห่งแรกที่ใช้ VR เข้ามาช่วยในการเรียนการสอนจึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต


อาจารย์ ชานนท์ ชิงชยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำเทคโนโลยี VR เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน โดยในส่วนของภาคการเงิน ได้ออกแบบให้มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เสมือนจริง หรือ ห้อง Lab ให้กับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในหัวข้อ การประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ การประเมินสินเชื่อ รวมถึงการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ในการสื่อสารกับนักลงทุน ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น กรณีของวิชาประเมินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ปกติแล้วโอกาสที่นักศึกษาจะได้ออกไปนอกสถานที่ค่อนข้างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของต้นทุนเรื่องของเวลา

รวมไปถึงในเรื่องของการเดินทางต่างๆ แต่เมื่อนำเอา VR มาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในของวิชานี้ช่วยทำให้นักศึกษาสามารถที่จะไปสำรวจ สามารถที่จะไปเก็บข้อมูล อสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ได้โดยที่นักศึกษาไม่ต้องเดินทางไปจริง และ Subject Property ที่จะทำการประเมินก็ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่หรือในประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถที่จะเดินทางไปได้ทั่วโลกหรือแม้กระทั่งจำลองอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาตามโจทย์ที่ต้องการ ส่วนนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่า VR ช่วยเข้ามาทำให้นักศึกษาสามารถที่จะมีโอกาสได้เรียนรู้จริงๆ ในส่วนของการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่นี้ ผมก็อยากจะเชิญชวนให้นักศึกษารวมถึงทุกๆท่านที่มีความสนใจได้ลองเข้ามาใช้เทคโนโลยี VR กันมาก ๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้และได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆที่ฉีกแนวไปจากการเรียนรู้แบบเดิม

 

Related posts